วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

เปลี่ยนเทมเพลตบล็อกเป็นแบบปรกติแล้วนะครับ

หลังจากลองเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างแบบปรกติกับไดนามิคเทมเพลต
พบว่ามีช่วงหนึ่งที่ไดนามิคเทมเพลตทำงานผิดปกติครับ
เลยตัดสินใจกลับมาเป็นเทมเพลตปรกติมาพักใหญ่ ๆ แล้ว
วันนี้เลยจัดการหน้าตาให้เรียบร้อยครับ

แล้วก็เพิ่มเอาฟีดของเฟซบุคเพจเรามาไว้ด้านล่างให้ได้ติดตามกันสดมากขึ้นครับ

ขอบคุณครับ ^_^

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Blog's Template Now Change..



มีการเปลี่ยนเทมเพลต (ธีม, หน้าตาบล็อก) ใหม่นะครับ เป็นไดนามิคเทมเพลตของบล็อกเกอร์นั่นเอง พร้อมกับพื้นหลังรูปโลกจากมุมมองเหลือชั้นบรรยากาศ เพื่อให้มีบรรยากาศของเทคโนโลยีสมัยใหม่และบริบทของอินเตอร์เน็ต. เทมเพลตแบบไดนามิคนี้ จะมีเมนูซ่อน/แสดงอัตโนมัติเมื่อเลื่อนเม้าส์เข้าไปหา ซึ่งเมนูจะอยู่ที่ด้านขวาสุดของหน้าเสมอครับ ซึ่งก็เก็บเนื้อหาและลิงค์เดิมต่าง ๆ ไว้อย่างครบถ้วนครับ

การอัพเดตเนื้อหาที่นี่ แม้ไม่หวือหวาแต่ก็ไม่ได้ทิ้งหายไปนะครับ ยังมีให้ติดตามเป็นระยะ ๆ เช่นเคย. ซึ่งก็ต้องบอกว่าปีนี้นั้น มีสมาชิกใหม่มาเยี่ยมชม ทั้งที่เฟซบุคเพจและบล็อกแห่งนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมพอสมควรเลยทีเดียวครับ

เร็ว ๆ นี้จะมีบทความวิเคราะห์โครงการโกออนไลน์ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบันออกมาให้ได้ติดตามกันนะครับ โครงการดังกล่าวแม้จะยังเปิดให้บริการอยู่ แต่ข่าวสารทั่วไปก็ไมค่อยมีออกมานัก ทำให้หลายคนไม่ทราบความเป็นไปเท่าที่ควร และบล็อกนี้แม้จะจัดทำขึ้นโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางโครงการโดยตรง แต่เราก็นำเสนอเนื้อหาที่มีประโยชน์ในการใช้งานเว็บบิสมาโดยตลอด เพื่อไม่ให้โครงการที่สามารถมีส่วนช่วยผู้เริ่มต้นอีคอมเมิร์ซได้อย่างมากนี้ ต้องเสียเปล่าไปอย่างน่าเสียดายนั่นเองครับ

ป.ล.ไดนามิคเทมเพลตนี้ ผู้เยี่ยมชมสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความต้องการได้ โดยชี้เม้าส์ไปที่เมนูบาร์ด้านบนฝั่งซ้ายสุด แล้วเลือกรูปแบบที่ต้องการได้เลยครับ.

.......

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Search Engine Optimization หรือ SEO คืออะไรในบริบท?

คุ้นโนะ..

SEO (เอสอีโอ) เป็นคำย่อที่ได้ยินและผ่านตากันมากมายสำหรับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตนะครับ โดยเฉพาะชาวอีคอมเมิร์ซโกออนไลน์ทั้งหลาย. โลกนี้ไม่ได้มีเฉพาะกูเกิลอย่างเดียวให้พูดถึงครับ เรียกว่าที่ไหนมี "ช่องค้นหา" แล้วละก็.. SEO เป็นเพื่อนที่จะตามเราไปทุกที่เลยทีเดียว.

SEO เป็น "ทักษะ" (Skill) ที่ทุกคนควรต้องฝึกฝน.

ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นครับ ระบบใดก็ตามที่มี "ช่องค้นหา" ..ทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและผู้สร้างเนื้อหาทั้งหลาย ควรต้องมีทักษะเกี่ยวกับมันบ้าง.

นับวันเว็บไซต์หรือหน้าเว็บเพจนั้น ยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นในทุก ๆ วินาทีที่ผ่านไป ปัจจุบันนี้เป็นยุคของโซเชียลมีเดียและ "Web 2.0" ซึ่งกลไกของมันจะสร้างหน้าเพจที่มี url (เว็บแอดเดรส) เฉพาะของแต่ละเนื้อหาใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาโดยผู้ใช้งานเองตลอดเวลา เพราะฉะนั้นในรอบ 24 ชั่วโมงของทุกวัน ประชากรโซเชียลเน็ตเวิร์คจะช่วยกันสร้างหน้าเว็บขึ้นมาได้มากอาจจะเป็นล้าน url ด้วยกันครับ

ข้อดีของการใช้ PayPal หรือ PaySbuy คือ..

สำหรับผู้ซื้อ (ใช้เพื่อจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ)

  • ไม่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเลขที่บัญชีธนาคารให้ผู้ขายรับทราบ
  • ไม่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลหมายเลขบัตรเดบิต/เครดิต + รหัสความปลอดภัยให้ผู้ขายรับทราบ
  • ผู้รับเงินหรือผู้ขายจะรู้แค่เพียงอีเมลของคุณเท่านั้น

สำหรับผู้ขาย
  • ไม่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเลขที่บัญชีธนาคารให้ผู้ซื้อรับทราบ
  • ไม่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลหมายเลขบัตรเดบิต/เครดิต + รหัสความปลอดภัยให้ผู้ซื้อรับทราบ
  • ผู้จ่ายเงินหรือผู้ซื้อจะรู้แค่เพียงอีเมลของคุณเท่านั้น

การดำเนินชีวิตทางการเงินในโลกอินเตอร์เน็ตนั้น เพย์พาลและเพย์สบายจะช่วยให้ทุกคนรักษาความลับเกี่ยวกับเลขที่บัญชีและหมายเลขบัตรเดบิต/เครดิตได้เป็นอย่างดี ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดด้านความปลอดภัยทางธุรกรรมเสมอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำสม่ำเสมอในฝั่งผู้ใช้คือ คอยกำหนดรหัสผ่านใหม่อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ทั้งในส่วนของบัญชีอีเมล และรหัสผ่านสู่ระบบบัญชีผู้ใช้งานเพย์พาลหรือเพย์สบายของคุณ

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การสมัครและการใช้งาน PayPal ฉบับย่อความ..

สิ่งที่ต้องเตรียม

  1. อีเมลที่เจาะจง 1 อีเมล. เมื่อสมัครที่เว็บไซต์ PayPal แล้ว ให้เช็คอีเมลและยืนยันอีเมล จะเป็นการเปิดเพย์พาลแอคเคาท์ขั้นเริ่มต้น สามารถรับ-ส่งเงินได้ แต่มีเพดานจำกัดจำนวนเงิน และไม่สามารถนำเงินออกจากบัญชีเพย์พาลขั้นเริ่มต้นนี้ได้
  2. บัญชีเงินฝากธนาคาร หรือ บัตรเครดิต/เดบิต (วีซ่า/มาสเตอร์การ์ด ที่ผ่านขั้นตอนเปิดการชำระออนไลน์ได้เรียบร้อยแล้ว) ..อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นในเบื้องต้น [ถ้าคุณเป็นผู้ค้า - แนะนำให้เพิ่มข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคารเข้าไปก่อน เมื่อทำการยืนยันบัญชีเงินฝากได้ตามกระบวนการ สถานะจะเป็น "verified" ทันที สามารถรับเงินได้โดยไม่มีเพดานจำกัดแล้ว และสามารถถอนเงินจากในเพย์พาลลงสู่บัญชีเงินฝากได้ ผู้ค้าสามารถเริ่มต้นทำการค้าที่เว็บไซต์ของตนเองด้วยเพย์พาลได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องทุนอาจไม่พอสำหรับเปิดบัตรเครดิต] [ถ้าคุณเป็นผู้ซื้อ - จุดหลักอยู่ที่บัตรที่สามารถชำระเงินออนไลน์ได้ บัตรเครดิตคือสินเชื่อหรือวงเงินกู้ ส่วนบัตรเดบิตคือบัญชีเงินฝากในธนาคารของคุณ (สำหรับบัตรเดบิต ณ ปัจจุบันผู้เขียนแนะนำบัตรวีซ่าเดบิต "บีเฟิร์สท์" ที่เปิดใช้คู่กับการเปิดบัญชีธ.กรุงเทพ โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องการเผื่อสำหรับการขยับไปซื้อขายบนเว็บไซต์ "อีเบย์" ต่อไป)]

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทางโครงการธุรกิจไทยโกออนไลน์ สิ้นสุดการให้บริการแถม Google App แล้วนะครับ..

ซึ่งจะมีผลกับสมาชิกใหม่ของโครงการเท่านั้นครับ สมาชิกที่สมัครในช่วงปีแรกที่ได้รับ Google App มาแล้ว จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ครับ

สืบเนื่องจากปัจจุบันนี้ ทาง Google App ได้ยุติการให้บริการแบบฟรีลง ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่กูเกิลประเทศไทยได้นำเสนอให้กับสมาชิกในโครงการธุรกิจไทยโกออนไลน์ในระยะแรก สมาชิกที่สมัครในระยะแรก (ส่วนใหญ่คือ 1 ปีแรกของโครงการดังกล่าวนี้) จะได้รับการผสานโดเมนเนมของเว็บไซต์ที่ได้รับ เข้ากับสารบบของ Google App ซึ่งเบื้องต้นก็คือ "อีเมล" ..ที่จะลงท้ายแอดเดรสด้วย @เว็บไซต์ของคุณ.in.th หรือ .co.th นั่นเอง          ซึ่งดังที่ได้กล่าวข้างต้นนะครับ สมาชิกดั้งเดิมจะยังคงมี Google App ทั้งระบบให้ใช้ได้เหมือนเดิมทุกประการ. สมาชิกที่สมัครใหม่หลังจากระยะเริ่มต้น ซึ่งอยู่ในช่วงหลังการประกาศยุติ Google App Free ออกมาแล้วเท่านั้นครับ ที่จะไม่มีตรงส่วนนี้มอบให้อีกต่อไป แต่ในส่วนของค่าโดเมนเนมฟรีหนึ่งปี และระบบเว็บสำเร็จรูปจากเว็บบิสนั้น ทางโครงการฯ ยังคงมีมอบให้อยู่เป็นปรกติครับ.

ซึ่งคำแนะนำทั่วไปสำหรับสมาชิกใหม่ เราแนะนำให้สร้างอีเมลแอคเคาท์ใหม่เป็นชื่อกิจการหรือชื่อเว็บไซต์@gmail.com ครับ. เพราะกูเกิลมีบริการที่มีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริงหลายตัวให้ใช้ครับ. เกี่ยวกับเรื่องราวของ Gmail สามารถอ่านได้จากบทความก่อนหน้านี้ครับ http://goonlineguide.blogspot.com/2013/01/gmail-vs-google-apps-gmail.html


.......

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การใช้เว็บบิสอย่างยั่งยืน ตอนที่ 1.

อันที่จริงข้อสรุปที่เราจะนำเสนอนี้ ใช้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ทุกกิจการเลยครับ.

กลไกสำคัญของการที่อีคอมเมิร์ซจะไปรอด คือช่องทางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ. ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีมาตรแบบตายตัวครับ จะขึ้นตรงกับ "สภาพแวดล้อมในการเข้าถึงหน่วยบริการทางการเงินของท่าน". โดยตัวอย่างด้านล่างนี้จะอธิบายถึงความเหมาะสมในรูปการณ์ที่แตกต่างกันไป.

  • ชำระโดยการโอนเงินเข้าบัญชี - ใกล้ตู้ ATM / ใกล้ธนาคาร / ธนาคารที่ท่านใช้อยู่มีระบบบัญชีออนไลน์สามารถตรวจสอบผ่านอินเตอร์เน็ต.
  • ชำระเงินสด - หน้าร้าน (ท่านใช้เว็บไซต์ในฐานะ "แคตตาล็อกแสดงสินค้า-ราคา-ที่ตั้งร้าน" โดยระบุว่าลูกค้าทำการชำระค่าสินค้าที่หน้าร้านเท่านั้น และกรณีนี้ท่านควรจำกัดขอบเขตพื้นที่บริการหากมีการนำส่งสินค้าถึงสถานที่, กรณีนำส่งถึงสถานที่ ท่านควรต้องพิจารณาการให้ลูกค้าชำระเงินสดแก่พนักงานเป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วย, บางท่านกับสินค้าที่พกพาได้ ในบางพื้นที่พบว่ามีการ "นัดพบ" กับลูกค้าในสถานที่ที่สะดวกต่าง ๆ.
  • ชำระผ่านระบบตัวแทนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น PayPal, PaySbuy - เมื่อลูกค้าชำระด้วยยอดในบัญชีกลุ่มนี้ ท่านจะได้รับเงินค่าสินค้าทันทีในรูปของ "ตัวเลขทางบัญชี". เงินลักษณะนี้ไม่ควรถอนออกเป็นเงินสดหรือเข้าสู่บัญชีธนาคารหากไม่มีความจำเป็น ควรเก็บไว้เพื่อใช้จ่ายออกไปในรูปตัวเลขอย่างนั้นจะดีกว่า. (อันที่จริงในส่วนนี้ หมายรวมถึงระบบตัวเลขทางบัญชีของธนาคารเองด้วยครับ ไม่ควรถอนออกมาในรูปเงินสดโดยไม่จำเป็น ถ้าท่านต้องการใช้เงินสดควรใช้ผ่าน "บัตรเดบิต" ..เพียงแต่โดยทั่วไปธนาคารในประเทศไทยไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมการถอนเงินนัก ชาวไทยโดยปรกติจึงไม่พบว่าการถอนเงินสดบ่อยจะเป็นปัญหา)
  • ตั๋วแลกเงิน, ธนาณัติ ฯลฯ  - ท่านควรอยู่ใกล้ที่ทำการไปรษณีย์ครับ.
ข้างต้นนี้เหมือนเรื่องที่ต้องคิดตอนท้าย เพราะเจ้าของเว็บส่วนใหญ่มักคิดเรื่องว่าจะขายอะไรก่อน แต่กับฝั่งผู้ซื้อแล้วเรื่องนี้สำคัญมากครับ เพราะถ้าหากวิธีชำระที่ทางร้านกำหนดไว้สะดวกกับฝั่งลูกค้าด้วย (ลูกค้าชาวไทยโดยมากชอบจ่ายเงินสด) ก็จะดึงดูดความสนใจได้มากครับ.

ภายในโครงการเว็บบิส ทุกท่านต้องไม่ลืมนะครับ ว่าได้มีในส่วนของ "PaySbuy" (เพย์สบาย) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ได้เตรียมไว้ให้ ซึ่งเราได้เคยเขียนบทความถึงไว้ด้วยครับ "บุคคลธรรมดากับเพย์สบายธุรกิจ" ..ที่นำเอารูปแบบการรับชำระด้วยเงินสดที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสที่คนทั้งประเทศคุ้นเคยเป็นอย่้างดีมาให้ได้เลือกใ้ช้กันด้วยนั่นเองครับ

ในตอนที่สองในซีรี่ส์ของการสรุปนี้
จะกล่าวถึงการออกแบบเว็บไซต์โดยรวม ๆ ครับ และแยกเป็นกรณีคล้าย ๆ กับในบทความชิ้นนี้ด้วยครับ

อย่าลืมติดตามนะครับ

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ในบล็อกเวอร์ชันปัจจุบัน..

Go Online Guide for Thai เวอร์ชั่นปัจจุบันจะขยายขอบเขตให้เนื้อหาครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิมครับ. แต่เดิมจะเกี่ยวกับโครงการ "ธุรกิจไทยโกออนไลน์" โดยเฉพาะ ..แต่เวอร์ชั่นใหม่นี้จะขยายไปสู่เนื้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโลกอินเตอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น และตอบสนองต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับผู้อ่านได้ทุกกลุ่มครับ

แน่นอนว่าบทความจะเป็นบทความที่มีเนื้อหาเชิงวิเคราะห์เช่นเดิม
เพื่อให้มีประโยชน์และนำไปปรับใช้ได้จริง

ในส่วนชื่อของบล็อกนี้ ยังคงใช้ชื่อเดิม แต่ความหมายจะเปลี่ยนไปเป็นบล็อกที่จะแนะนำการทำอีคอมเมิร์ซ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ คือเป็นบล็อกสำหรับผู้อ่านที่ต้องการความรู้สำหรับใช้ชีวิตในยุคอินเตอร์เน็ตติดตามตัวอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเราจะนำเสนอบทความในแง่มุมต่าง ๆ ที่สดใหม่ทางวิธีคิด และไม่ให้ซ้ำกับบล็อกหรือเว็บไซต์อื่น ๆ ..เพื่อ "เติมเต็ม" โลกอินเตอร์เน็ตภาษาไทย ให้มีคุณภาพที่ดี

รูปแบบก็สามารถกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของ "แม็กกาซีนออนไลน์" ซึ่งจะแบ่งเป็นสารบัญหรือคอลัมน์ให้ผู้อ่านสามารถติดตามได้โดยง่าย ..โดยที่จะแยกเมนูเก่าที่เกี่ยวกับโครงการธุรกิจไทยโกออนไลน์ไ้ว้ในตำแหน่งเฉพาะ เพื่อให้ผู้อ่านเดิมและผู้ที่อาจเป็นสมาชิกใหม่ของโครงการยังคงมีบทความชิ้นเดิมรองรับอยู่ตลอดครับ




ในบล็อกเวอร์ชันก่อนหน้า..

Go Online Guide for Thai



  • โครนอสมิวสิคแฟชั่น CHRONOS MUSIC FASHION™: Cyber Entertainment Business of Thailand ต้นสังกัดของแผนกรับจัดเวิร์คช็อปส่วนบุคคลฯ "Zelinth©"   ได้เล็งเห็นว่า "โครงการธุรกิจไทยโกออนไลน์" ของ Google™ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยนี้ จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้มาก
  • เราจึงได้เลือกจะทดลองใช้ระบบของโครงการฯ นี้ กับแผนกเวิร์คช็อปดังกล่าวของเรา ทั้งในแง่ประโยชน์การใช้งานของแผนกเอง ด้วยว่าทั้งโครงสร้างของโครนอสมิวสิคแฟชั่น® นั้น จดทะเบียนฯ และเป็น "REAL CYBER BUSINESS" มาตั้งแต่ต้น เราจึงใช้เว็บไซต์และอินเตอร์เน็ตอยู่เป็นปรกติ
  • ในมุมของแผนกเวิร์คช็อปเราเองนั้น ก็จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการเปิดแผนกขึ้น และได้มีโครงการฯ นี้เข้ามาในประเทศไทยพอดีกัน เราจึงตัดสินใจจะทดลองระบบใหม่ๆ ด้วยเห็นว่าระบบเว็บไซต์ของ Webiz นั้นสร้างขึ้นบนมาตรฐาน HTML5 ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ของเว็บไซต์ในระดับสากล และความที่ Zelinth© เอง ก็ได้มีเวิร์คช็อปเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอีคอมเมิร์ซอยู่ก่อนแล้ว เราจึงตัดสินใจให้ทางแผนกฯ สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อค้นคว้าข้อมูลการใช้งานด้านต่างๆ ของระบบเว็บไซต์ในโครงการฯ นี้ ออกเผยแพร่ต่อสาธารณะแบบไม่มีค่าใช้จ่าย โดยไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเวิร์คช็อปที่รับจัดอยู่ตามปรกติของแผนกฯ
  • และเราจึงได้ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะชนทราบแต่แรกว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ "โครงการธุรกิจไทยโกออนไลน์" จากทางเรานั้น สามารถติดตามได้ "ฟรี" ทั้งที่ facebook Pages ในตอนแรก และที่บล็อกแห่งนี้ เท่านั้น.

เราคาดหวังว่าสาธาณะจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย
จากการตัดสินใจและลงมือทำของเราในครั้งนี้
สิ่งใดที่ถูกต้องและบกพร่องเราก็จะกล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมา
และเราเองก็น้อมรับคำทักทาย-คำแนะนำที่เข้ามา อยู่เสมอเช่นกัน
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการปรับปรุงไปด้วยกันอย่างที่สุด
สร้างอีกทิศทางที่น่าสนใจให้กับประชากรอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้มั่นคงขึ้น
เพื่อรับการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่นานจากนี้

ด้วยความปรารถนาดีจากโครนอสมิวสิคแฟชั่น™

THANK  YOU






- เกี่ยวกับโครงการอันเป็นที่มาของเว็บบล็อกนี้ในตอนเริ่มต้น..


www.goonline.in.th   ธุรกิจไทยโกออนไลน์ เป็นโครงการในความดูแลของ Google และพันธมิตร ทั้งหน่วยงงานรัฐฯ และเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการชาวไทยได้ก้าวเข้าสู่โลกอันไร้พรมแดนของอินเตอร์เน็ต มีโอกาสเข้าถึงและนำเสนอตนเองต่อประชากรทั่วโลก ข้ามขีดจำกัดของพื้นผิวโลกที่จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนได้รู้จัก และกระทั่งเกิดธุรกรรมกันได้จริง เปิดศักราชใหม่ของกิจกรรม "พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์" ของประเทศไทยให้ก้าวได้อย่างเต็มรูปแบบ





วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

กำลังจะขยายขอบเขตการนำเสนอให้กว้างกว่าตัวโครงการธุรกิจไทยโกออนไลน์ครับ

โดยที่ชื่อของเว็บบล็อกยังคงเดิม แต่หมายความและขอบเขตของเนื้อหาจะขยายออกไปครับ. หมายถึงว่า "โกออนไลน์ไกด์ฟอร์ไทย" จะเป็นบล็อกที่นำเสนอบทความที่เกี่ยวข้องกับการทำอีคอมเมิร์ซโดยรวม และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตของผู้คนในยุคที่อินเตอร์เน็ตติดตามตัวอย่างทุกวันนี้ ..วันที่ผู้คนออนไลน์เกือบจะตลอดเวลา

จะไม่โฟกัสเฉพาะตัวโครงการธุรกิจไทยโกออนไลน์อีกต่อไปแล้ว นัยหนึ่งก็เพื่อไม่ให้ดูเป็นการลำเอียงจนเกินไป และอีกนัยหนึ่งเพื่อให้เนื้อหาสมบูรณ์กว่าที่เป็นอยู่ครับ เพราะความรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลายนั้นสามารถนำมาเป็นฐานคิดและวิเคราะห์สำหรับผู้ที่ทำอีคอมเมิร์ซได้อย่างมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ เราจึงคิดว่าควรจะมองให้ออกไปโลกภายนอกโครงการฯ ด้วยจึงจะสมบูรณ์ ..นั่นเองครับ

ซึ่งสำหรับผู้อ่านเดิมที่เป็นสมาชิกโครงการฯ ..รวมถึงสมาชิกใหม่ของโครงการฯ
ก็ยังสามารถเข้ามาเพื่ออ่านบทความที่เกี่ยวกับโครงการฯ ได้เช่นเดิมครับ
โดยเราจะจัดวางเมนูเดิมไว้ในตำแหน่งที่เฉพาะ (ติดตามได้อีกครั้งครับ) ให้เข้าถึงได้ไม่ยาก
ในขณะที่ก็จะมีเมนูใหม่ในทิศทางของ "สารบัญ" หรือคอลัมน์ สำหรับบล็อกเวอร์ชั่นใหม่
เพิ่มเข้ามาให้ได้ติดตามกันเป็นประจำอีกด้วยครับ




วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

ระหว่าง Gmail ปรกติ VS. Gmail ในโปรแกรมกูเกิลแอปส์.

จุดหลักของโปรแกรมกูเกิลแอปส์ (Google Apps) นั้น อยู่ที่การที่ คุณใช้โดเมนเนมของเว็บไซต์คุณเอง (ซับโดเมน - โดเมนเนมย่อยที่ไม่ใช่ www นำหน้า แต่ตั้งเป็นอย่างอื่นไว้ เช่น www2, mail, calendar หรือคำใด ๆ ก็ตามแต่ครับ) กับบริการต่าง ๆ ของกูเกิลได้เกือบทุกอย่าง คือ ไม่ต้องอยู่ภายใต้โดเมนของกูเกิลเลย
ซึ่งก็คือคุณสร้างจักรวาลของกิจการของคุณเองได้ เป็นซับโดเมนย่อยของคุณเองทั้งหมด แม้ว่าคุณจะใช้บริการต่าง ๆ ของทางกูเกิลอยู่ก็ตามครับ (ไม่ต้องใช้ทุกอย่างภายใต้ google.com) นี่คือประเด็นของ "กูเกิลแอปส์".